พิพิธภัณฑ์ในภาคใต้

 

1. พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา
    สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ บริเวณใกล้เชิงสะพานติณสูลานนท์ช่วงที่ 2 สถาบันตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมของภาคใต้ มีพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ ลักษณะของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบภาคใต้
    แบ่งออกเป็น 4 อาคาร โดยแต่ละอาคารจะแบ่งออกเป็นห้อง ๆ แสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ โบราณวัตถุที่เกิดจากภูมิปัญญา ของคนในท้องถิ่น เครื่องประดับศาตราวุธที่ใช้กันในภาคใต้ เช่น กริช มีดชายธง มีดหางไก่ แสดงผ้าทอพื้นเมือง เช่นผ้าทอพุมเรียง ผ้าทอปัตตานี ห้องแสดงกระต่ายขูดมะพร้าวรูปทรงต่าง ๆ ที่มีรูปแบบหาชมได้ยากห้องแสดงการละเล่นพื้นเมืองเช่น หนังตะลุง โนรา ลิเกป่า ห้องแสดงวิถีชีวิตชาวใต้ เช่น การแสดงการละเล่นและของเล่นเด็กเช่น การเล่นซัดราว การเล่นว่าวลูกข่าง ห้องแสดงประเพณีการบวช ห้องแสดงการรักษาพยาบาลแบบโบราณ
สถาบันมีห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว ห้องสัมมนา และร้านขายสินค้าพื้นเมือง เช่น หัตถกรรมกระจูด หัตถกรรมปาหนันหัตถกรรมย่านลิเพา ผ้าทอเกาะยอ ผลิตภัณฑ์จากเปลือกหอย ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว เครื่องเงิน เป็นต้น สถาบันได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเภทแหล่งท่องเที่ยวดีเด่นทางวัฒนธรรมและโบราณสถาน ปี 2543 จากจุดชมวิวของสถาบันสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบสงขลาเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 8.30-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 7433 1184-9
    ประวัติความเป็นมา
ความเป็นมาของสถาบันทักษิณคดีศึกษา เริ่มต้นตั้งแต่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้เปิดวิทยาเขต ประจำภาคใต้ขึ้นที่จังหวัดสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2511 เนื่องจากนิสิต ที่เรียนวิชาโทภาษาไทย ต้องเรียน รายวิชาคติชนวิทยา นิสิตรุ่นแรกได้ออกปฏิบัติภาคสนามระหว่างวันที่ 16 ? 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ณ อำเภอสทิงพระและอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ผลจากการเก็บข้อมูลครั้งนั้นทำให้ได้ ้ข้อมูลวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นวัตถุของจริง สมุดข่อย และข้อมูลที่เป็นมุขปาฐะ ข้อมูลเหล่านั้นนับเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง นอกจากเป็นแรงบันดาลใจให้มีการจัดเก็บอย่าง เป็นระบบและมีเป้าหมาย จนเกิดเป็น ?ห้องวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้? แล้ว ยังก่อให้เกิดเป็น โครงการ ?ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรม ภาคใต้? ขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2518 และในปลายปีเดียวกันนี้ได้รับงบประมาณแผ่นดินเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนไทยคดีศึกษา และศูนย์ ส่งเสริม ภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ 1 หลัง เป็นเงิน 4,589,200 บาท โดยสร้างขึ้นในบริเวณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี ได้เสด็จฯ เปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2522 ต่อมาทบวงมหาวิทยาลัย ได้ให้ ความเห็นชอบยกฐานะศูนย์ส่งเสริมฯ ขึ้นเป็น ?สถาบันทักษิณคดีศึกษา? ในคราวประชุมกรรมการ ทบวงฯ ครั้งที่ 5/2523 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2523 และรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2523ต่อมาได้มีการเตรียมขยายงานของสถาบันทักษิณคดีศึกษา โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้นำเข้าบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 5 (พ.ศ. 2525 ? 2529) และ การขยายงานได้กำหนดให้ดำเนินการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา แต่ในระหว่างที่โครงการเข้าสู่การพิจารณา สะพานติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นสะพานเชื่อม ระหว่าง เกาะยอกับแผ่นดินใหญ่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 สถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งขณะนั้น ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้พิจารณาเห็นว่า ทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรมของภาคใต้ มีนัยสำคัญยิ่งต่อการที่จะนำมาใช้ ประโยชน์ใน การพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการปกครอง แต่จะต้อง ขยายงานด้าน พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกันให้ครบวงจรและมีศักยภาพสูงพอ ซึ่งขณะนั้น สถาบันฯ ได้เตรียมาการไว้มากพอที่จะเป็นฐานไปสู่ศักยภาพอันสมบูรณ์ได้ แต่จะต้อง ย้ายสถานที่ ตั้งสถาบันฯ ไปยังที่แห่งใหม่ที่สามารถดำเนินการธุรกิจทางวัฒนธรรมได้สมบูรณ์ โดยเฉพาะการ มีพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาซึ่งจะต้องใช้พื้นที่ในการดำเนินการมาก จากการศึกษา จัดหาสถานที่ ได้พบว่าบริเวณเกาะยอเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด คือบริเวณบ้านอ่าวทราย หมู่ที่ 1 โดยในระยะ แรกสามารถจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างได้ประมาณ 22ไร่สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณแผ่นดินให้ก่อสร้างสถาบันทักษิณคดีศึกษาแห่งใหม่ ที่บ้านอ่าวทราย หมู่ที่1 ตำบลเกาะยอ โดยจัดสรรงบประมาณให้ จำนวน 21,374,097 บาท โดยผูกพันเป็นระยะเวลา 3 ปี (งบประมาณปี 2530 ? 2532) การก่อสร้างได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2530 โดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานประกอบพิธี เมื่อการก่อสร้าง แล้วเสร็จสถาบันฯ ได้ ย้ายที่ทำการจาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ มาอยู่ที่เกาะยอในปี พ.ศ. 2533 และได้ทำพิธีอย่างเป็น ทางการเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธี

 

 

2. พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยภูเก็ต
ตั้งอยู่บนถนนสายห้าแยกฉลอง-หาดราไวย์ เป็นแหล่งรวบรวมเปลือกหอยหลากสีสันและลวดลายจากทั่วทุกมุมโลกพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยภูเก็ต อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจใกล้หาดราไวย์ เป็นแหล่งรวบรวมเปลือกหอยจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นเปลือกหอยจากทะเลไทย อ่าวเม็กซิโก หรือแม้แต่เปลือกหอยจากแอฟริกาใต้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากการสะสมเปลือกหอยจากทั่วทุกมุมโลกของคุณ สมนึก ปัทมคันธิน เปิดให้เข้าชมมาแล้วกว่า 10 ปี ความโดดเด่นและน่าสนใจของที่นี่เป็นที่สนใจของบุคคลสำคัญทั่วโลก อีกทั้ง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลยังชื่นชมว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของเอกชนที่ดีที่สุดที่เคยเห็นมาในเมืองไทย นิทรรศการจัดอยู่ภายในอาคารที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นสะดุดตา เปลือกหอยหลายรูปร่าง หลากสีสันถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบสวยงาม พร้อมให้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างครบถ้วน นักท่องเที่ยวจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับฟอสซิลหอยอายุร้อยล้านปี เปลือกหอยยักษ์น้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัม ชื่นชมความงามของไข่มุกสีทองหนัก 140 กะรัต และเปลือกหอยมีค่านานาชนิด ที่นี่จึงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเรียนรู้ระบบนิเวศทางทะเล หรือแม้กระทั่งเด็กเล็ก ๆ ก็สามารถสนุกไปกับการทำความรู้จักเปลือกหอยนานาชนิดได้
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้  เปิดให้เข้าชมมาแล้วกว่า 10 ปี เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของเอกชนที่ดีที่สุดในเมืองไทย  ภายในจัดแสดง
-เปลือกหอยหลายรูปร่าง หลากสีสัน จัดวางเป็นระเบียบสวยงาม พร้อมให้ข้อมูลประกอบอย่างครบถ้วน จากทะเลไทย อ่าวเม็กซิโก หรือแม้แต่เปลือกหอยจากแอฟริกาใต้
-เปลือกหอยมีค่านานาชนิด
-ฟอสซิลหอยอายุ 100 ล้านปี
-เปลือกหอยยักษ์น้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัม
-ไข่มุกสีทองหนัก 140 กะรัต


ที่ตั้ง : ตั้งอยู่บนถนนวิเศษ ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.00-18.00 น.
ค่าเข้าชมคนไทย ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
สอบถามข้อมูล : โทรศัพท์ 0 7638 1888, 0 7638 1274

 

3.พิพิธภัณฑ์หาดทรายแก้ว

 

    ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์หาดทรายแก้ว ตั้งอยู่บริเวณหาดทรายแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาโบราณและเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินรวมไปถึงเครื่องจักรสานเก่าแก่ ที่มีจำนวนมากกว่า 10,000 ชิ้น ซึ่งป้าเยิ้ม เรืองดิษฐ์ เจ้าของบ้านที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์นี้บอกว่า ชอบสะสมของเก่ามาตั้งแต่อายุ 16 ปี ก็ยังคงเก็บสะสมอยู่เรื่อย ๆ โดยของส่วนใหญ่จะรับซื้อจากพวกชาวประมงที่ไปงมมาจากซากเรืออับปางกลางทะเล และยังบอกอีกว่าเพราะวัตถุโบราณพวกนี้ที่ทำให้ป้าเยิ้มได้รับโชคลาภจากการเสี่ยงโชค จนมีเงินมาจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ตัวอาคารจัดแบบเรียบง่าย เป็นอาคารชั้นเดียวแต่ทำการแยกหมวดหมู่สิ่งของทุกอย่างไว้อย่างชัดเจน
    ประวัติ
นางเยิ้ม เรืองดิษฐ์ อายุ ๔๖ ปี เดิมมีอาชีพเป็นแม่ค้า ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา และเป็นเจ้าของรีสอร์ทหาดทรายแก้ว ชอบสะสมของเก่ามาตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี ของสะสมส่วนใหญ่รับซื้อจากชาวบ้านจากแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะรับซื้อจากชาวประมงที่งมโบราณวัตถุได้จากซากเรือโบราณที่อับปางใต้ทะเล โดยในอดีตชาวประมงมักจะนำโบราณวัตถุที่งมได้มาแลกกับข้าวสารและไก่ ป้าเยิ้มหลงใหลการสะสมของเก่าจนถึงกับเคยขายที่ดินมาซื้อจานราชวงค์ซ้องอายุกว่าพันปี ในราคากว่าเจ็ดหมื่นบาท โดยเชื่อว่าใครครอบครองจานใบนี้จะมีกินไม่มีวันหมด ตัวป้าเยิ้มเองเชื่อถือในปาฏิหารย์ของโบราณวัตถุมากเพราะสามารถทำให้ป้าเยิ้มถูกหวยแล้วได้เงินมาก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ได้ พิพิธภัณฑ์หาดทรายแก้วตั้งอยู่ภายในรีสอร์ทหาดทรายแก้ว อยู่ติดทะเล เปิดให้เข้าชมมากว่า ๑๐ ปีแล้ว ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว เดิมเป็นบ้านของป้าเยิ้มเองต่อมาจึงดัดแปลงเพื่อนำมาจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ โดยแบ่งออกเป็นห้อง ๆ ของส่วนใหญ่ที่จัดแสดงคือ เครื่องปั้นดินเผาโบราณ ถ้วยชาม กระต่ายขูดมะพร้าว และเครื่องมือทำมาหากิน เครื่องจักสาน จำนวนของในครอบครองกว่า ๑๐,๐๐๐ ชิ้น แต่ยังไม่ได้ทำทะเบียน ป้าเยิ้มบอกว่าเคยบริจาคของให้ตำหนักเขาขุนพนมกว่าห้าคันรถ ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์จึงคับแคบไปถนัดตาเมื่อเทียบกับปริมาณของที่มี ของที่จัดแสดงได้รับการจัดแบ่งหมวดหมู่ แต่ไม่มีคำบรรยายประกอบแต่อย่างใด วิทยากรนำชมคือตัวป้าเยิ้มเอง และถ้าป้าไม่อยู่ก็จะให้ตาสอซึ่งเป็นน้าเขย อายุกว่า ๘๒ ปีทำหน้าที่แทน บริเวณชายหาดเป็นที่ตั้งของค่ายลูกเสือ ทำให้มีเด็กนักเรียนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ป้าเยิ้มไม่ได้เก็บค่าเข้าชม แต่ตั้งกล่องรับบริจาคไว้หน้าพิพิธภัณฑ์ ในอนาคตป้าเยิ้มหวังว่าจะได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม จำลองอาคารเป็นรูปเรือสำเภา เพื่อจัดแสดงการค้าทางทะเลระหว่างไทยและจีนในสมัยโบราณ

 

4. พิพิธภัณฑ์บ้านนครใน
บ้านเก่าหลังหนึ่งในย่านถนนวัฒนธรรมของจังหวัดสงขลาที่ถูกแปลงสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมถิ่น โดดเด่นด้วย “แจกัน โถไหกระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่ ที่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม” ตกแต่งหน้าประตูทางเข้าทั้งสองฝั่งถนนนครนอก ถนนนครใน รู้จักกันในชื่อ “บ้านนครใน”บ้านนครใน เป็นบ้านเก่าที่ถูกสร้างสรรค์ใหม่ด้วยฝีมือของคุณกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ ด้วยความรักและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมเก่าสงขลา จึงได้ซื้อบ้านเก่าหลังนี้และพัฒนาเป็น “พิพิธภัณฑ์เมืองเก่าสงขลา” แหล่งบันทึกประวัติศาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสงขลา ไว้ให้ลูกหลานชาวสงขลาและชาวไทยได้ศึกษาเรียนรู้ ตลอดทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์/วัฒนธรรมสำหรับผู้สนใจจากทั่วโลก ที่นี่มีการตกแต่งแบบชิโนยูโรเปี้ยนสวยงามสะดุดตาและยังกลมกลืนกับวัฒนธรรมจีนที่เคล้ารวมกันอย่างลงตัว ตั้งแต่ทางเข้าประตูทั้งสองด้านของถนน จะพบจานโบราณ แจกันโบราณ ถูกนำมาประดับตกแต่งอย่างพิถีพิถัน

 

5. พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร
   ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยนายรัศมินทร์ นิติธรรม มีแนวคิดที่เพื่ออนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ และนำเอาเอกลักษณ์หรือศิลปะดั้งเดิมทางด้านภูมิปัญญามาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ร่วมสมัย สู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยใช้ชื่อขุนละหารเป็นแบรนด์ เนื่องจากเป็นชื่อพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 5 และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านพิพิธภัณฑ์จัดเก็บรวบรวมศิลปะวัตถุหลากหลายประเภท ทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ท้องถิ่นและของชนชั้นปกครอง อาทิเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น เครื่องมือจับสัตว์น้ำศาสตราวุธ เช่น กริช อุปกรณ์เกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์ เช่น ชุดการแสดงมะโย่ง เครื่องดนตรี

 

ภายในออกแบบและจัดแสดง แบ่งเป็น
1.ห้องภูมิหลัง จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยลังกาสุกะ
2.ห้องเครื่องใช้ไม้สอย จัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอยของชาวมลายูในชายแดนภาคใต้ เช่น เครื่องทองเหลือง
3.ห้องพิธีกรรม จัดแสดงแบบประเพณีพิธีกรรมของชาวมลายูในชายแดนใต้ เช่น การแห่นก มะโย่ง และแม่พิมพ์ขนม
4.ห้องสายน้ำ จัดแสดงวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพประมงทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มของชาวมลายูในพื้นที่
5.ห้องศาสตราวุธ จัดแสดงและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศาตราวุธ เช่น กริช ดาบ
6.ห้องนันทนาการ จัดแสดงวัสดุอุปกรณ์สำหรับนันทนาการ เช่น ที่ดักนกคุ่ม กรงตั๊กแตนประชันเสียง