พิพิธภัณฑ์ในภาคเหนือ

 

1. พิพิธภัณฑ์บ้านจ่าทวี
    ประวัติพิพิธภัณฑ์บ้านจ่าทวี
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี ก่อตั้งขึ้นจากความตั้งใจและความมุ่งมั่นของจ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ช่างหล่อพระแห่งเมืองพิษณุโลก ที่หลงใหลและชื่นชอบการซื้อสะสมของเก่า ทั้งเครื่องมือทำมาหากินภูมิปัญญาชาวบ้าน เงินตราหรือธนบัตรเก่า เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ภาพถ่ายต่างๆ มากมาย ที่เป็นภาพชีวิตของผู้คนในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครสรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ 
    ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวจังหวัดพิษณุโลก ด้านในจัดเป็นสวนธรรมชาติตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ไทยหลากหลายชนิด มีอาคารแหล่งข้อมูลและจัดแสดงสินค้าของที่ระลึก ส่วนจัดแสดงมี 3 อาคารหลัก คือ
    อาคารหลังแรก เป็นบ้านไม้ที่เจ้าของเดิมสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ย่านตลาดเมืองพิษณุโลก รุ่นบุกเบิก ใช้จัดแสดงรูปภาพเก่าที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพิษณุโลก อาทิ รูปการออกตรวจราชการงานเมืองในอดีต, รูปเหตุการณ์ไฟไหม้ ปี พ.ศ.2500, รูปทัศนียภาพเมืองพิษณุโลกก่อนและหลังไฟไหม้ใหญ่, ภาพของดีเมืองพิษณุโลก และภาพชุมชนสำคัญในอดีต เป็นต้น
    อาคารหลังที่สอง เป็นอาคารไม้สองชั้น สร้างขึ้นแบบร่วมสมัยเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไทยในอดีต มีข้าวของเครื่องใช้จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่จะเน้นพิเศษในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก,พิจิตร,นครสวรรค์,กำแพงเพชร,เพชรบูรณ์,ตาก,สุโขทัย,อุตรดิตถ์ แบ่งตามประโยชน์ใช้งาน ชั้นล่างจัดแสดงกระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องจักสาน เครื่องเขิน ตุ่ม โอ่ง หม้อน้ำ เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องมือจับปลา เหรียญธนบัตร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และนิทรรศการทำนา
    อาคารหลังที่สาม
 จัดแสดงนิทรรศการชาวโซ่งหรือลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ กรณีศึกษาชาวโซ่งบ้านแหลมมะค่า อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอพยพมาจากเพชรบุรีและราชบุรี จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการประกอบพิธีกรรมของชาวโซ่ง เช่น พิธีเสนเรือน, งานกินหลองหรืองานแต่งงานของชาวโซ่ง เป็นต้น นอกจากอาคารจัดแสดงทั้ง 3 หลัง ยังมีอาคารคลังพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เก็บรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ไว้เป็นจำนวนมากและยังมีวัตถุธรรมชาติ เช่น หินประเภทต่างๆ ซากสัตว์,เขาสัตว์,สมุนไพร,ยาไทยและเครื่องมือแพทย์แผนโบราณ เป็นต้น
จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ รักในศิลปะและเห็นในคุณค่าของใช้พื้นบ้าน โดยเริ่มซื้อหาและรวบรวมของใช้พื้นบ้านที่คนทั่วไปมองว่าเป็นของรกของทิ้ง ไม่มีราคาเช่น สุ่ม ไห ไซ โอ่ง และสะสมมานานกว่า 30 ปี จนนำไปสู่การเกิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีในปี พ.ศ. 2526 ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านส่วนใหญ่ได้มาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ปีพ.ศ. 2533 ได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ และปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ ปัจจุบันมีอาคารจัดแสดง 3 อาคารหลัก อาคารหลังแรก เป็นบ้านไม้ที่เจ้าของเดิมสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ย่านตลาดเมืองพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ. 2500 บ้านนี้ใช้จัดแสดงรูปภาพเก่า ๆ ที่แสดงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพิษณุโลก อาทิ รูปเหตุการณ์ไฟไหม้ ปี 2500 ภาพ"ของดีเมืองพิษณุโลก" และภาพชุมชนสำคัญในอดีต เช่น ชุมชนนครไทย เป็นต้น อาคารหลังที่สอง เป็นอาคารสองชั้น จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไทยในอดีต แบ่งตามประโยชน์ใช้งาน อาทิ เครื่องจักสาน เครื่องเขิน เครื่องมือจับสัตว์ อาคารหลังที่สาม จัดแสดงนิทรรศการชาวโซ่ง(ลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ) กรณีศึกษาชาวโซ่งบ้านแหลมมะค่า ต.พันเสา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งอพยพมาจากเพชรบุรี ราชบุรี นานนับชั่วอายุคนแล้ว นอกจากนี้ยังมีส่วนร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพิพิธภัณฑ์

 

 

2. พิพิธภัณฑ์ขัวศิลปะ
    ขัวศิลปะ (ArtBridgeChiangRai) ก่อตั้งโดยกลุ่มศิลปินเชียงราย โดยเริ่มแรก อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้มอบเงินทุนตั้งต้น 500,000 บาทสำหรับจัดตั้งกองทุนศิลปินเชียงราย โดยกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการทำงานของศิลปิน และการศึกษาของนักศึกษาศิลปะในจังหวัดเชียงราย หลังจากได้รับมอบเงินทุนตั้งต้นแล้ว ได้มีการระดมทุนในหมู่พี่น้องศิลปิน และผู้ที่รักศิลปะชาวเชียงรายเพิ่มเติมอีก แล้วนำมาลงทุนธุรกิจเล็กๆ เพื่อให้เป็นธุรกิจที่สามารถทำให้กองทุนศิลปินเชียงรายมีความงอกงามและยั่งยืนต่อไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยตั้งชื่อโครงการว่า “ขัวศิลปะ” เปรียบเสมือนบ้านของศิลปินที่เปิดประตูต้อนรับทุกท่าน
ขัวศิลปะ ก่อตั้งจากความรัก ความสามัคคี และความเอื้อเฟื้อของกลุ่มศิลปินชาวเชียงราย โดยเริ่มแรกจาก อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้มอบทุนตั้งต้นจำนวน 500,000 บาท สำหรับจัดตั้งกองทุนให้กับศิลปินเชียงราย ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักๆเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของศิลปิน และการศึกษาของนักศึกษาที่สนใจงานศิลปะในจังหวัดเชียงราย จึงตั้งชื่อโครงการนี้ว่า “ขัวศิลปะ” ซึ่ง “ขัว” ในภาษาเหนือแปลว่าสะพาน เมื่อรวมกับคำว่า “ศิลปะ” จึงมีความหมายว่า สะพานที่จะเชื่อมศิลปะสู่สังคม หอศิลป์แห่งนี้จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์เรียนรู้ทางศิลปะมีการจัดแสดงผลงานศิลปะแบบหมุนเวียนของเหล่าศิลปินทั่วภูมิภาคทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ๆรวมถึงศิลปินนานาชาติ เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์ทางศิลปะ อาทิ เช่นนิทรรศการ, ค่ายศิลปะ, เวิร์คช้อป, เสวนาพูดคุย , จัดแสดงดนตรีและละคร แก่ผู้ที่มีใจรักในงานศิลปะได้มาหาแรงบันดาลใจให้กับตนเอง และมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติอีกด้วย ขัวศิลปะ มีทั้งแกลอรี่ให้ชม ถ้าท่านใดอยากจะซื้องานศิลปะก็สามารถติดต่อที่ล็อบบี้ได้เลยนะคะ นอกจากนั้นแล้วที่นี่ยังมีร้านอาหารและร้านกาแฟให้นั่งพักผ่อน จิบกาแฟ ชิมอาหาร ริมแม่น้ำกก ก็ได้บรรยากาศที่พักผ่อนสบายๆ ใกล้ๆ ตัวเมืองเชียงรายเลย

 

 

 

3. พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์
   พระตำหนักดาราภิรมย์เป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ซึ่งหลังจากสิ้นรัชกาลแล้ว พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จกลับไปประทับ ณ นครเชียงใหม่ เป็นการถาวร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457  ทรงเลือกสร้างพระตำหนักดาราภิรมย์ในพื้นที่อำเภอแม่ริม ด้วยเพราะอยู่ไม่ห่างตัวเมืองเชียงใหม่นัก มีภูมิประเทศงดงาม มีภูมิอากาศดีและมีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ พร้อมแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร

 

 

อาคารพระตำหนักดาราภิรมย์ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างมีลักษณะเป็นใต้ถุนโล่ง โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก รองรับพระตำหนักชั้นบนและส่วนหลังคาที่เป็นโครงสร้างไม้ รูปแบบเป็นบ้านฝรั่งประยุกต์ตามความนิยมในช่วงเวลานั้น ด้านหน้าพระตำหนักยื่นเป็นมุขที่เทียบรถยนต์ มีบันไดทางขึ้นดาดฟ้าเพื่อชมทัศนียภาพจากมุมสูง ชั้นสองประกอบด้วยห้องขนาดใหญ่หลายห้อง มีลูกกรงและช่องลมลวดลายฉลุไม้อย่างงดงาม ด้านหลังยื่นเฉลียงต่อออกไป ด้านบนคลุมด้วยระแนงไม้ปลูกไม้เลื้อยให้ร่มเงาและบรรยากาศร่มรื่น สถานที่โดยรอบมีบริเวณที่เรียกว่า “สวนเจ้าสบาย” ประกอบด้วยสวนไม้ดอก ไม้ประดับ แปลงทดลองการเกษตร สวนผลไม้ ไม้ยืนต้นและสวนครัวอีกด้วย ปัจจุบันด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานพระอนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี  ซึ่งทุกๆ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดงาน “งานวันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี” เพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ สภาวัฒนธรรมอำเภอแม่ริม ตำรวจตระเวนชายแดน การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคเหนือ โรงเรียน และชาวอ.แม่ริม ในงานมีพิธีวางพวงมาลา การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ workshop งานศิลปะหัตถกรรมล้านนา จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2542 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงพระตำหนักให้มีความสมบูรณ์และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงประวัติความเป็นมา สิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และงานศิลปะวัฒนธรรมตามขนบและรูปแบบล้านนา เพื่ออนุรักษ์และรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่  ด้วยความพยายามในการอนุรักษ์โบราณสถานและสถาปัตยกรรมตามรูปแบบเดิมให้คงอยู่อย่างสวยงาม จึงทำให้พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ในปี พ.ศ. 2543

 

4. พิพิธภัณฑ์หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ
    ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์
หอฝิ่น เกิดขึ้นจากพระราชปรารภของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรบริเวณ สามเหลี่ยมทองคำ อันประกอบด้วยดินแดนของประเทศลาว พม่าและไทย ที่ชาวโลกรู้จักเพียงแค่เป็นที่ปลูกฝิ่น ผลิต และค้ายาเสพติดแหล่งใหญ่ อันเป็นเหตุให้ประเทศเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก จากการแก้ปัญหายาเสพติดของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โครงการในพระราชดำริของพระองค์ ที่สามารถลดอุปทาน (supply) ของการผลิตและค้าฝิ่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี จึงทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องมหันตภัยอันเกิดจากฝิ่นและสารเสพติดเพื่อลดอุปสงค์ (demand) ของการใช้สารเสพติดทั้งปวงด้วยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินการตามพระราชปรารภ โดยจัดสร้างหอฝิ่นในพิื้นที่บริเวณบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยค้นคว้ารวบรวมข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับฝิ่น และสารเสพติดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2542 โดยตลอดระยะเวลา 6 ปี ของการก่อสร้างก็ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่ให้การสนับสนุนด้านการจัดหางบประมาณ ด้านข้อมูล รูปภาพ วัตถุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการจัดแสดงนิทรรศการหอฝิ่นจึงเป็นดอกผลแห่งแรงบันดาลใจในการสืบสานแนวพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2548 และได้รับรางวัล PATA Gold Award ท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (PATA) ในปี พ.ศ. 2547 และรางวัลดีเด่นในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเพื่อนันทนาการ (The 6th Thailand Tourism Award 2006) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2549 และยังเป็นที่กล่าวขวัญว่า เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและของเอเชีย

 

ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
   หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ เป็นศูนย์นิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของฝิ่นเมื่อสมัยที่มีการใช้กันอย่างถูกกฎหมายและทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัย การศึกษาต่อเนื่องในหัวข้อฝิ่น สารสกัดจากฝิ่นในรูปแบบต่างๆและยาเสพติดประเภทอื่นๆ เกิดขึ้นจากพระราชปรารภของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อันประกอบด้วย ดินแดนประเทศลาว พม่า และไทย จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ที่สามารถลดการผลิตและค้าฝิ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างดี และทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องมหันตภัยอันเกิดจากฝิ่นและสารเสพติด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงได้ดำเนินการจัดสร้าง หอฝิ่น ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542

นิทรรศการภายใน ประกอบด้วย
   อุโมงค์มุข : นิทรรศการเริ่มตั้งแต่อุโมงค์ที่มืดสนิท ดูลึกลับ ความยาว 137 เมตร ซึ่งเจาะทะลุภูเขาด้านตึกรับรองไปถึงตัวอาคารใหญ่อีกฝั่งหนึ่ง ที่จำลองเป็นทุ่งฝิ่น
   ห้องโถง : ทุ่งฝิ่นจำลอง แสดงเรื่องราวและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพันธุ์ต่างๆของดอกป๊อปปี้ ทั้งพันธุ์สวยงามและพันธุ์ที่ใช้กรีดเอายางมาผลิตเป็นยา การเจริญเติบโตในระยะต่างๆ รวมทั้งประโยชน์ของดอกป๊อปปี้ในการตกแต่ง
   ห้อง AUDITORIUM : จัดฉาย VTR เล่าถึงวัตถุประสงค์และเรื่องราวในการจัดหอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ
   โซนปัญจะสหัสวรรษแรก : จัดแสดงประวัติศาสตร์การกำเนิดฝิ่น จากการค้นพบครั้งแรกที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในตำราทางการแพทย์ และศาสนาตั้งแต่อดีต
   โซนมีดสองคม : ผนังสองด้านของทางเดินถูกออกแบบให้สะท้อนถึงด้านดีและด้านร้ายจากการใช้ฝิ่น ส่วนด้านดีจัดแสดงเกี่ยวกับยาที่สกัดได้จากฝิ่นในรักษาบรรเทาอาการเจ็บปวด ส่วนด้านร้ายจัดแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานจากการเสพติด
   โซนประจิมสู่บูรพา : จัดแสดงยุคของการค้าระหว่างจักรวรรดิยุโรปกับเอเชีย ฝิ่นกลายเป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์พร้อมทั้งกลายเป็นสารเสพติดที่แพร่หลายในวงกว้าง โดยจำลองฉากท่าเรือพาณิชย์อังกฤษ เรือสินค้าของยุโรปที่เดินทางมาอินเดีย โรงงานฝิ่นในอินเดีย และเรือขนาดเล็กที่ขนถ่ายสินค้าสู่ท่าเรือท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เมืองสงขลา เมืองจันทบุรี เมืองสิงคโปร์ จึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างอินเดียและจีน ซึ่งเป็นท่าเรือหัวใจของจีนและกวางตุ้ง
   โซนศึกยาฝิ่น : จัดแสดงเรื่องราวของสงครามฝิ่น ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีนโดยมีการจัดแสดงหุ่นจำลอง 3 บุคคลสำคัญของจีน และ 3 บุคคลสำคัญของอังกฤษ ที่ส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสงครามฝิ่น และจัดแสดง 3 เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การทำลายฝิ่นที่หูเหมิน การเผาทำลายหยวนหมิงหยวน พระราชวังฤดูร้อนอายุกว่า 150 ปี และการถูกลิดรอนสิทธิและผลกระทบด้านความเป็นอยู่ของชาวจีนหลังสงคราม
   โซนฝิ่นในสยาม : จัดแสดงโดยการจำลองโรงน้ำชาจีนในเยาวราช โดยมีหุ่นคนนอนสูบฝิ่น เล่าเรื่องราวความเป็นมาของฝิ่นในสยาม ที่มีหลักฐานว่าคนไทยรู้จักฝิ่นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 สถานการณ์ฝิ่นในสยามเริ่มเปลี่ยนแปลงหลังจากอังกฤษรบชนะจีนในสงครามฝิ่น และมีส่วนจัดแสดงของหายาก เช่น ลูกแป้ง กลักยาฝิ่น หมอน พื้นที่จำลองการเคี่ยวฝิ่น และพระพุทธรูปที่ได้จากการหลอมกลักฝิ่น เป็นต้น
   โซนยามหัศจรรย์ : จัดแสดงพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตกที่นำไปสู่การแยกตัวของมอร์ฟีน พัฒนาการของเฮโรอีนและการฉีดเฮโรอีนเข้าใต้ผิวหนัง และยาเสพติดอื่นๆ
   โซนข้อห้ามทางกฎหมาย อาชญากรรม การขัดแย้ง : ฝิ่นและยาเสพติดในช่วงทศวรรษที่ 20 เป็นยาเสพติดที่ผิดกฎหมายอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์การอาชญากรรม อันเป็นควานพยามของชาวโลกในการร่วมใจพัฒนาเพื่อต่อสู้กับการลักลอบค้ายาเสพติดและการใช้ยาในทางที่ผิด
   โซนแหล่งซุกซ่อน : จัดแสดงให้เห็นการรู้เท่าทันของเจ้าหน้าที่ตำรวจจับยาเสพติด ไม่ว่าจะซ่อนไว้ที่ไหนก็สามารถจับได้ เช่น การซ่อนในรองเท้า ในกระหล่ำปลี เป็นต้น
   โซนผลร้ายของยาเสพติด : จัดแสดงให้เห็นถึงผลร้ายของยาเสพติดที่กระทบกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจด้านสังคม และตัวผู้เสพ
   โซนการศึกษา : จัดแสดงกรณีศึกษาจริงของครอบครัวที่ตกเป็นทาสยาเสพติดว่าต้องประสบชะตากรรมอย่างไรบ้าง
   โซนหลอกตัวเองหลอกคนอื่น : จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการแก้ตัว แก้ต่าง การกล่าวโทษกัน ไม่มีข้อสรุป สุดท้ายคือความตาย และเรื่องราวของผู้ตกเป็นเหยื่อ
   โซนห้องคิดคำนึง : ผู้ชมจะได้มีโอกาสอยู่กับตัวเองและตั้งคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้รับจากการชมนิทรรศการแห่งนี้ และหวังว่าจะมีส่วนร่วมในการช่วยกันต่อต้านปัญหายาเสพติด เพื่อทำให้สังคมโลกดีขึ้น

 

5. พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์
    ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยาจังหวัดลำปาง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมความรู้และตัวอย่างด้านธรณีวิทยา ซากดึกดำบรรพ์ และธรรมชาติวิทยา เพื่อให้บริการองค์ความรู้ที่รวบรวมไว้แก่ประชาชน และเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการ ศึกษาวิจัยที่ถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งซากดึกดำบรรพ์ และแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือของประเทศ
    ภายในนิทรรศการ แบ่งเป็น 3 โซน
โซนชั้น 1  กิจกรรมการเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา ธรณีพิบัติภัย และซากดึกดำบรรพ์
โซนชั้น 2  บอกเล่าเรื่องราวในมหายุคมีโซโซอิก พร้อมจัดแสดงหุ่นไดโนเสาร์เคลื่อนไหวได้ พร้อมทั้งห้องจำลองการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์หลังสิ้นสุดมหายุคมีโซโซอิก เมื่อไดโนเสาร์สูญพันธุ์ได้กำเนิดมหายุคที่ 3 คือมหายุคซีโนโซอิก บอกเล่าเรื่องราวสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
โซนชั้น 3  บอกเล่าเรื่องราวการกำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิตในมหายุคพาลีโอโซอิก ผ่านหุ่นจำลองเคลื่อนไหวได้